วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ความซื่อสัตย์
เมื่อกล่าวถึงหัวข้อดังกล่าว ท่านผู้ฟังอาจจะมีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่เมื่อทราบถึงรายละเอียดในความหมาย กฎเกณฑ์และวิธีการในเรื่องนี้แล้ว จะเห็นว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายมาก ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อเข้าใจแล้วจะปฏิบัติหรือไม่ เท่านั้น
ก่อนที่จะอธิบายและบรรยายต่อไป ขอให้ทำความเข้าใจความหมายของถ้อยคำของหัวข้อดังกล่าว ตามพจนานุกรมเสียก่อนว่าแต่ละคำมีความหมายอย่างไร และเมื่อรวมถ้อยคำแล้วมีความหมายอย่างไร
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายหรือนิยามไว้ว่า
“ คุณ ” หมายความว่า ความดีที่มีประจำอยู่
“ ธรรม ” หมายความว่า คุณความดี ความถูกต้อง
“ คุณธรรม ” หมายความว่า สภาพคุณงามความดี
“ จริยะ ” หมายความว่า ความประพฤติ กริยาที่ควรประพฤติ
“ ธรรมจริยา ” หมายความว่า การประพฤติเป็นธรรม การประพฤติถูกธรรม
“ จริยธรรมา ” หมายความว่า ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ
“ จริยธรรมในวิชาชีพกฎหมาย ” หมายความว่า ข้อที่ผู้ประกอบอาชีพในทางกฎหมายความประพฤติและปฏิบัติ
ในเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ซึ่งในวงการกฎหมายยอมรับและนับถือกันว่า ท่านเป็นผู้รอบรู้และเป็นแบบอย่างในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมในทางกฎหมาย ได้ให้ความหมายในเรื่องจริยธรรมของนักกฎหมายไว้ว่า “ จริยธรรมของนักกฎหมายเป็นหลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพของนักกฎหมายที่ดีประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง คือ การดำรงตนในสังคมอย่างนักกฎหมายที่ดี ”
ผู้ประกอบวิชาชีพในทางกฎหมายนั้นมีอยู่หลายวิชาชีพ เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ พนักงานสอบสวน ฯลฯ บางวิชาชีพเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมหรือความเป็นธรรมโดยตรง บางวิชาชีพเป็นเพียงส่วนประกอบไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมหรือความยุติธรรมโดยตรง
สำหรับวิชาชีพในทางกฎหมาย มีพระราชบัญญัติทนายความ พ . ศ . 2528 มาตรา 51 บัญญัติไว้ว่า “ ทนายความต้องประพฤติตนตามข้อบังคับว่าด้วยมารยาททนายความตามที่สภาทนายความได้ตราเป็นข้อบังคับ
ทนายความผู้ได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวข้างต้น ให้ถือว่าทนายความผู้นั้นประพฤติผิดมารยาททนายความ
มาตรา 52 บัญญัติไว้ว่า “ โทษผิดมารยาททนายความ ” มี 3 สถาน คือ
(1) ภาคทัณฑ์ หรือ
(2) ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกินสามปี หรือ
(3) ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ
สำหรับพนักงานสอบสวนนั้น เป็นหน่วยงานวิชาชีพทางกฎหมายในทางอาญาที่สำคัญที่สุดหน่วยงานหนึ่ง เพราะเป็นหน่วยงานเบื้องต้นที่มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานในทางอาญา ที่จะพิสูจน์ว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิด หรือ เป็นผู้บริสุทธิ์ หากรวบรวมและตรวจสอบพยานหลักฐานไว้ดี ก็จะเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้เสียหาย พนักงานสอบสวนจึงต้องมีความเป็นธรรมและจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพของตน แต่ในการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวนไม่ได้บัญญัติหรือกำหนด เรื่องมารยาท หรือ คุณธรรม จริยธรรมไว้โดยตรง หรือ เป็นลายลักษณ์อักษร คงมีแต่กำหนดเรื่องวินัย การรักษาวินัย และการลงโทษไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับข้าราชการพลเรือนโดยทั่วไป
ส่วนพนักงานอัยการ ซึ่งมีหน้าที่กลั่นกรองพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนรวบรวมมา ก่อนที่จะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ถูกกล่าวหา ในคดีอาญา ก็เป็นหน่วยงานสำคัญที่จะให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหา หรือผู้เสียหาย ก่อนคดีมาสู่ศาล แต่ก็ไม่ได้บัญญัติ หรือ กำหนดเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมได้ จึงต้องนำเรื่องวินัย การรักษาวินัยและการลงโทษตามกฎหมายเกี่ยวกับข้าราชการพลเรือนมาใช้ เช่นเดียวกัน
สำหรับข้าราชการตุลาการหรือผู้พิพากษานั้น ได้กำหนดจริยธรรมของข้าราชการตุลาการไว้โดยเฉพาะเรียกว่า ปะมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ โดยกำหนดเป็นข้อควรปฏิบัติและ ข้อควรละเว้น รวมทั้งหมด 44 ข้อด้วยกัน
ไม่ว่าจะเป็นจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมายวิชาชีพใดก็ตาม ย่อมจะหลีกเลี่ยงหรือไม่กล่าวถึงความยุติธรรมไม่ได้ กล่าวคือ จริยธรรมของวิชาชีพกฎหมาย ทุกวิชาชีพจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม จึงมีปัญหาที่ตามมาว่า “ ความยุติธรรม ” มีความหมายว่าอย่างไร
“ ความยุติธรรม ” เป็นคำที่ให้คำนิยามได้ยากที่สุดคำหนึ่งในทุก ๆ ภาษา
ตามพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถานให้คำนิยามคำว่า “ ยุติธรรม ” ว่าคือ ความเที่ยงธรรม ความชอบธรรม ความชอบด้วยเหตุผล และ
คำว่า “ เที่ยงธรรม ” มีความหมายว่า “ ตั้งตรงด้วยความเป็นธรรม ”
โดยที่ความยุติธรรมเป็นหัวใจของวิชาชีพกฎหมายทุกวิชาชีพ โดยไม่อาจแยกออกจากกันได้ จึงมีผู้ให้คำนิยามไว้มากมาย แต่ขอกล่าวถึง คำนิยามและความเห็นเฉพาะของผู้ที่มีชื่อเสียงทางกฎหมายบางท่าน ดังนี้
พระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ปรากฏในหิรัญบัตรซึ่งได้พบจากการรื้อถอนอาคารศาลแพ่งหลังเดิม ได้จารึกเกี่ยวกับความยุติธรรมไว้ว่า “ การยุติธรรมอันเดียวเป็นการสำคัญที่ยิ่งใหญ่ เป็นหลัก หรือเป็นประธานการชำระตัดสินความทุกโรงศาล เป็นเครื่องประกอบรักษาให้ความยุติธรรมเป็นไป ถ้าจัดได้ดีขึ้นเพียงใด ประโยชน์ความสุขของราษฎรก็จะเจริญยิ่งขึ้นเท่านั้น ”
ลอร์ด เดนิ่ง อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ของอังกฤษ ให้คำนิยามว่า “ ความยุติธรรม ได้แก่เรื่องที่บุคคลในสังคมซึ่งเป็นบุคคลที่มีเหตุผล และมีความรู้สึกผิดชอบเชื่อมั่นว่าเป็นเรื่องที่ชอบธรรม ” (Justice is what right - minded members of community - those who have the right spirit within them - believe to be fair)
จอห์น โรลส์ ศาสตราจารย์อเมริกันในวิชาปรัชญา ให้คำนิยามคำว่า “ ความยุติธรรม ” ไว้ในทำนองเดียวกัน โดยมองอีกแง่หนึ่งว่า “ ความยุติธรรมได้แก่เรื่องที่บุคคลที่มีเหตุผลถือว่าเป็นเรื่องที่ชอบธรรม ถ้าหากบุคคลเหล่านั้นต้องวินิจฉัยในเรื่องนั้น ทั้งนี้โดยที่ตนไม่มีทางจะล่วงรู้เลยว่า ตนเองจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นอย่างไรบ้าง ” (Justice…is…what rational people would regard as fair if they had to decide that question with no knowledge whatever of what their own position would be)
พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานแก่นักกฎหมายในโอกาสต่าง ๆ ในเรื่องความยุติธรรม มีดังนี้
“ กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม หากเป็นเพียงบทบัญญัติหรือปัจจัยที่ตราไว้เพื่อรักษาความยุติธรรม ผู้ใดก็ตาม แม้ไม่รู้กฎหมาย แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติด้วยความสุจริตแล้วควรจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายเต็มที่ ตรงกันข้าม คนที่รู้กฎหมายแต่ใช้กฎหมายไปในทางทุจริต ควรต้องถือว่าทุจริต และกฎหมายไม่ควรคุ้มครองจนเกินเลยไป เพราะฉะนั้นไม่สมควรจะถือว่าการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินมีวงกว้างอยู่เพียงแต่ขอบเขตของกฎหมาย จำเป็นต้องขยายออกไปให้ถึง ศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลความเป็นจริงด้วย ”
( พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตร แก่ผู้สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของ
สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันจันทร์ 29 ตุลาคม 2522)
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ ทำให้เห็นได้ว่า “ ความยุติธรรม ” เป็นหัวใจและรากฐานของ คุณธรรม และ จริยธรรม ในวิชาชีพกฎหมาย จึงมีปัญหาต้องพิจารณาต่อไปว่า เราจะก่อให้เกิดความยุติธรรม และจะรักษาความยุติธรรมไว้ได้อย่างไร
ความยุติธรรมในวิชาชีพกฎหมายจะเกิดขึ้นได้โดยอาศัยหลักสองประการ กล่าวคือ
ประการแรก จะต้องฝึกฝนตนเองให้เป็นคนที่รอบรู้กฎหมาย กล่าวคือ จะต้องรู้กฎหมายโดยละเอียดถี่ถ้วนทั้งในกฎหมายสารบัญญัติ และ วิธีสบัญญัติ หากรู้กฎหมายไม่ดี นอกจากจะไม่สามารถให้ความยุติธรรมแล้ว อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่คู่ความหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้
นอกจากจะต้องรู้กฎหมายเป็นอย่างดีแล้ว ยังต้องมีความรอบรู้ในวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเป็นอย่างดี รวมตลอดทั้งจะต้องมีความรอบรู้ในเหตุการณ์ต่าง ๆ ของบ้านเมือง
ในเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ ศาลาดุสิตาลัย วันที่ 6 พฤศจิกายน 2518 มีความว่า
“ เมื่อกฎหมายของเราดีอยู่แล้ว จุดใหญ่ที่สำคัญที่สุดในการธำรงรักษาความยุติธรรมในบ้านเมือง จึงได้แก่การสร้างนักฎหมายที่ดีที่จะสามารถวิเคราะห์และใช้กฎหมายได้ตรงจุดประสงค์ ข้าพเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้ทุกคนสร้างตนให้เป็นนักกฎหมายที่ดีที่แท้ โดยฝึกตนให้มีความกล้าในอาชีพของนักกฎหมาย คือกล้าที่จะปฏิบัติการไปตามความถูกต้องเที่ยงตรงทั้งตามกฎหมายและศีลธรรม ไม่ปล่อยให้ภยาคติ คือ ความเอียงเอนไปด้วยความหวาดกลัวในอิทธิพลต่าง ๆ เข้าครอบงำสำหรับเป็นกำลังส่งให้ทำงานได้ด้วยความองอาจ มั่นใจ และมุมานะ อีกประการหนึ่งต้องฝึกให้มีความเคารพเชื่อมั่นในสัจธรรมคือความถูกต้องตามคลองธรรม ตามความเป็นจริงอย่าง มั่นคง ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ไม่เห็นสิ่งอื่นใดว่ายิ่งไปกว่าความจริง สำหรับป้องกันมิให้ความ อยุติธรรม และความทุจริตเกิดขึ้น ”
นักกฎหมายต้องรู้ว่ากฎหมายต่าง ๆ ที่ผู้ร่างกฎหมายและผู้มีหน้าที่ออกฎหมายบัญญัติมานั้น แม้ในขณะร่างกฎหมายผู้ร่างและผู้บัญญัติกฎหมายจะคิดและเข้าใจว่ากฎหมายที่ออกมาครอบคลุมปัญหาในขณะร่างหรือปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไดัอย่างดีและเป็นธรรมแล้ แต่เมื่อนำกฎหมายดังกล่าวไปใช้และปฏิบัติ ความจริงอาจไม่เป็นที่คาดหวังไว้ รวมทั้งปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภายหลังมีข้อเท็จจริงและมูลเหตุของปัญหาแตกต่างออกไปตามสมัยและความเจริญก้าวหน้าของสังคม ดังนั้น เราผู้ใช้กฎหมายจึงต้องคำนึงว่ากฎหมายที่มีอยู่นั้นเป็นเพียงหลักกว้าง ๆ เท่านั้น และเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่มีความตั้งใจจะนำไปใช้ให้เกิดความเป็นธรรม ในเรื่องนี้พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานแก่นักกฎหมายในโอกาสต่าง ๆ มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า
“ กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือในการรักษาความยุติธรรม จึงไม่ควรจะมีความสำคัญยิ่งไปกว่าความยุติธรรม หากควรจะต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมายและอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาคดีใด ๆ โดยคำนึงถึงแต่ความผิดความถูกตามกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นดูเป็นการไม่เพียงพอ ต้องคำนึงถึงความยุติธรรมซึ่งเป็นจุดประสงค์ของกฎหมายด้วยเสมอ ”
พระราชดำรัสดังกล่าวตรงกับรากฐานของความเป็นธรรมที่ว่า ผู้ใช้กฎหมายจะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมก่อนกฎหมาย โดยเหตุนี้กฎหมายจึงเป็นเพียงแต่เครื่องมือหรืออุปกรณ์อย่างหนึ่งที่ผุ้ร่างกฎหมายบัญญัติไว้ เพื่อนำไปสู่ความเป็นธรรม โดยผู้ร่างกฎหมายเชื่อว่าถ้าเราทำตามกฎเกณฑ์ของกฎหมายแล้ว นั้นคือความเป็นธรรม หรือจะนำไปสู่ความเป็นธรรมได้ แต่ในทางปฏิบัติหาเป็นเช่นนั้นเสมอไปไม่ เพราะบางครั้งเมื่อนำไปใช้อาจพบปัญหาใหม่เกิดขึ้นที่ผู้ร่างกฎหมายไม่เคยคาดคิดมาก่อน รวมทั้งบางครั้งการแปลใช้กฎหมายตรง ๆ อาจไม่เป็นธรรมหรือขัดกับความเป็นธรรมได้ ฉะนั้น ในการพิจารณาปัญหาทางกฎหมายต่าง ๆ จะต้องหาความเป็นธรรมในเรื่องนั้นให้ได้เสียก่อน เมื่อได้ความเป็นธรรมแล้ว จึงผันหรือปรับความเป็นธรรมนั้นให้เข้ากับกฎหมาย จึงจะถือได้ว่าปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าว และเป็นนักกฎหมายที่ดีและมีอุดมการณ์
ตัวอย่าง นายแดงทำสัญญากู้ยืมเงินนายดำ 200,000 บาท ตกลงจะชำระเงินกู้คืนภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่กู้ยืม โดยนายแดงได้จำนำรถยนต์ของนายแดงมอบให้นายดำยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ยืม ต่อมาประมาณหนึ่งเดือน นายแดงมาหานายดำบอกว่ามีเพื่อนมาจากเชียงใหม่และมีความประสงค์จะซื้อที่ดินของนายแดงที่จังหวัดจันทบุรี หากเพื่อนตกลงซื้อที่ดิน นายแดงได้เงินมานะจะนำมาชำระหนี้เงินกู้ยืมคืนให้นายดำ แต่นายแดงไม่มีรถยนต์จะพาเพื่อนไปดูที่ดิน นายแดงจึงขอยืมรถยนต์คันที่นายแดงจำนำนายดำไว้เพื่อพาเพื่อนไปดูที่ดินสักด 2 วัน เมื่อพาเพื่อนไปดูที่ดินแล้วจะนำรถยนต์มาคืนให้ นายดำเห็นใจจึงตกลงให้นายแดงยืมรถยนต์ไป เมื่อนายแดงนำรถยนต์พาเพื่อนไปดูที่ดินแล้ว นายแดงไม่ยอมนำรถยนต์มาคืนให้นายดำจนกระทั่งครบกำหนด 3 เดือน นายแดงไม่ยอมชำระหนี้เงินกู้และไม่ยอมนำรถยนต์ไปคืนนายดำ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่านายดำจะบังคับจำนำโดยไปยึดรถยนต์ของนายแดง คันดังกล่าวมาขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้เงินกู้ได้หรือไม่
ในเรื่องนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 769 (2) บัญญัติไว้ว่า “ เมื่อผู้รับจำนำยอมให้ทรัพย์จำนำกลับคืนไปสู่ครอบครองของผู้จำนำ การจำนำย่อมระงับ ” ถ้าเราดูตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว หลายท่านเห็นว่า เมื่อนายดำผู้รับจำนำมอบรถยนต์ให้นายแดงผู้จำนำไป ถือได้ว่านายดำยอมให้ทรัพย์จำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำแล้ว การจำนำย่อมระงับ นายดำจะบังคับจำนำโดยยึดรถยนต์มาขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้เงินกู้ไม่ได้ นายดำคงมีสิทธิไปฟ้องเรียกเงินกู้จากนายแดงตามสัญญากู้ยืมเงินเป็นหนี้ธรรมดา
อย่างนี้ขอถามว่า ยุติธรรมหรือเป็นธรรมหรือไม่ เชื่อว่าแม้คนที่มีความเห็นดังกล่าวข้างต้นก็ต้องบอกว่าไม่เป็นธรรม ฉะนั้น เราต้องหาความเป็นธรรมก่อน เมื่อได้ความเป็นธรรมแล้วจึงไปหาทางปรับให้เข้ากับกฎหมายดังกล่าว บทบัญญัติดังกล่าวมาใช้ถ้อยคำว่า “ เมื่อผู้รับจำนำยอมให้ทรัพย์จำนำกลับคืนไป ” คำว่า “ ยอมให้คืน ” มีความหมายว่าเป็นการให้คืนในลักษณะสละสิทธิ์ คือให้ไปเลย แต่กรณีตามปัญหาเป็นเพียงการให้ยืมไปใช้ชั่วคราวไม่ใช่ให้คืน การจำนำจึงไม่ระงับ นายดำจึงชอบที่จะบังคับจำนำโดยยึดรถยนต์คันดังกล่าว ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้เงินกู้ได้ นี้เป็นตัวอย่างของหลักที่ว่า ความเป็นธรรมต้องมาก่อนแล้วปรับความเป็นธรรมให้เข้ากฎหมาย
ในส่วนนี้มีพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2516 ว่า
“ กฎหมายทั้งหมดซึ่งประกาศใช้บังคับแก่ประชาชนนั้น แม้จะมีบทบัญญัติอันเที่ยงธรรมและครอบคลุมไปถึงประชาชนทั่วประเทศอยู่ในตัว โดยหลักการแล้วก็ตาม แต่คดีความที่เกิดขึ้นนั้นก็ยังผิดแผกแปลกกันไปได้มาก ตามเหตุแวดล้อม สภาพการณ์ และพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคมของแต่ละท้องถิ่น การใช้กฎหมายบังคับคดีต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้วิจารณญาณอันถูกต้องของนักกฎหมายควบคู่ไปด้วยทุกกรณีจึงจะสามารถรักษาความยุติธรรมได้ มิให้สั่นคลอนและขาดตกบกพร่องได้ นักกฎหมายทุกคนจะต้องตั้งใจใช้กฎหมายเพื่อผดุงความเป็นธรรม ความผาสุกสงบ และความมั่นคงของมหาชนและประเทศชาติ ทั้งต้องเพ่งถึงการใช้วิจารณญาณอันถูกถ้วนให้มากที่สุด ควบคู่กับการใช้กฎหมายเสมอตลอดไป มิฉะนั้นอาจไม่บรรลุผลตามที่ทุกคนมุ่งหวัง ”
ประการที่สอง เราจะต้องมีคุณธรรมและจริยธรรม กล่าวคือ เมื่อเรารู้กฎหมายและเข้าใจวิธีการใช้กฎหมายที่ดีดังกล่าวแล้ว แต่ในการประกอบวิชาชีพหรือปฏิบัติหน้าที่ของเรา หากเราไม่มี คุณธรรมหรือจริยธรรมแล้ว ก็อาจทำให้เรานำกฎหมายไปใช้ในทางที่ผิด อันจะทำให้เกิดความเสียหายและก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่คู่ความหรือผู้เกี่ยวข้องได้ ฉะนั้น นอกจากจะต้องรู้กฎหมายและวิธีการใช้อย่างดีแล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายยังจะต้องประกอบวิชาชีพของตนในกรอบ คุณธรรมและจริยธรรมของวิชาชีพของตนที่ดีด้วย
สำหรับคุณธรรมจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายนั้น แม้จะได้กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งที่ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายขาดไม่ได้ คือ ความซื่อสัตย์สุจริต หากผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายคนใดขาดความซื่อสัตย์สุจริตแล้ว ก็ไม่อาจให้ความเป็นธรรม หรือ ความยุติธรรมแก่คู่ความประชาชน หรือผู้เกี่ยวข้องได้
“ ความซื่อสัตย์สุจริต ” คืออะไร มีความหมายอย่างไร
ตามพจนานุกรมคำว่า “ ซื่อสัตย์สุจริต ” คือ “ ความประพฤติตรงไปตรงมาด้วยความจริงใจ ไม่คดโกงไม่หลอกลวง และที่สำคัญ คือ ความประพฤติด้วยความตั้งใจดี
ความซื่อสัตย์สุจริตจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าดูตามคำวิเคราะห์ศัพท์ในพจนานุกรม ความซื่อสัตย์สุจริตจะเกิดขึ้นได้โดย ผู้ปฏิบัติจะต้องมีสัจจะทั้งกาย วาจา ใจ ยึดมั่นทำแต่สิ่งที่ชอบ ไม่ประสงค์ในสิ่งที่ไม่ถึงได้อันจะนำไปสู่ความทุจริต ในการกระทำทุกอย่าง ปากพูดอะไรก็ทำอย่างนั้น คือ ปากกับใจต้องตรงกัน ที่กล่าวมานี้เป็นความหมายของความซื่อสัตย์สุจริตในความหมายทั่วไป แต่ในกรณีของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายนั้น คำว่า “ ซื่อสัตย์สุจริต ” มีความหมายลึกซึ้งกว่านี้มากและจะแตกต่างจากวิชาชีพอื่น เช่น เจ้าพนักงานเขตหรืออำเภอให้บริการที่ดีแก่ประชาชนที่ไปติดต่อขอเปลี่ยนชื่อ นามสกุล หรือในกรณี ผู้ป่วยไปหาแพทย์ แพทย์และพยาบาลให้การดูแลอย่างดี ให้ความสะดวกรวดเร็วในการรักษา ผู้บริการในทั้งสองกรณีพอใจกับบริการที่ได้รับจึงนำของกำลังหรือของขวัญไปให้เจ้าพนักงานอำเภอ แพทย์ หรือพยาบาลที่ให้บริการ อย่างนี้วิชาชีพอื่นถือว่าไม่เป็นไร รับไว้ได้ไม่ขัดต่อความซื่อสัตย์สุจริต เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีคู่กรณี มีเฉพาะผู้ให้บริการและ ผู้รับบริการ แต่ในวิชาชีพกฎหมายนั้นแม้เราจะชี้ขาดหรือตัดสินไปด้วยความยุติธรรมไม่ได้เข้าข้างใคร ผู้ชนะหรือผู้ที่ได้รับความเป็นธรรม นำของกำนัล ของขวัญ หรือเงินทองมาให้เมื่อคดีเสร็จแล้วก็ตาม ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่เป็นผู้ดำเนินการ หรือเป็นผู้ชี้ขาด รับไว้ไม่ได้ หากรับไว้ถือว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริต และขัดต่อประมวลจริยธรรมนักกฎหมาย เพราะในเรื่องคดีความนั้นเป็นเรื่องที่มี คู่กรณี เมื่อฝ่ายที่ชนะเอามาให้ ฝ่ายแพ้ย่อมจะเข้าใจว่าสาเหตุที่อีกฝ่ายหนึ่งชนะเพราะเอาของขวัญ ของกำนัล หรือเงินทองมาให้ รวมทั้งหากรับไว้จะเป็นหนทางหรือบ่อเกิดของการเพาะนิสัยให้อยากได้ทรัพย์สินของคนอื่นอันจะนำไปสู่ความไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อไป
ในเรื่องนี้มีพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้ ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2520 ว่า
“ กฎหมายทั้งปวงจะธำรงความยุติธรรมและถูกต้อง เที่ยงตรง หรือจะธำรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมอยู่ได้หรือไม่เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้ คือถ้าใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น ๆ จริงแล้ว ก็จะทรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพอันสมบูรณ์ไว้ได้ แต่ถ้าหากนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ โดยการพลิกแพลงบิดพลิ้วให้ผันผวนไปด้วยความหลงผิด ด้วยอคติ หรือด้วยเจตนาอันไม่สุจริตต่าง ๆ กฎหมายก็เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพลงทันที และกลับกลายเป็นพิษเป็นภัยแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง ผู้ที่ต้องการจะใช้กฎหมายสร้างสรรค์ความผาสุขสงบและความเป็นปึกแผ่นก้าวหน้าของประชาชนและบ้านเมืองจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาวัตถุประสงค์อันแท้จริงของกฎหมายแต่ละฉบับไว้ให้แน่วแน่เสมอไป อย่างไม่มีข้อแม้ประการใด ๆ พร้อมทั้งต้องรักษาอุดมคติ จรรยา ความสุจริต และมโนธรรมของนักกฎหมายไว้โดยรอบคอบ เคร่งครัดเสมอด้วยรักษาชีวิตของตนเอง กฎหมายไทยจึงจะทรงคุณค่าอันสมบูรณ์ บริบูรณ์ ”
ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า เราจะรักษาความซื่อสัตย์สุจริตไว้ได้อย่างไร ในเรื่องนี้มีเรื่องที่เราจะต้องระมัดระวังและปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. หลีกเลี่ยงการเป็นหนี้บุญคุณของผู้อื่น อาชีพทางกฎหมายไม่เหมือนอาชีพดีความที่เราต้องพิจารณาและให้ความเป็นธรรมกับคนอื่นนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะให้โดยฝ่าฝืนความเป็นธรรมได้ และไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะซื้อหรือขายกันได้ เช่น เราปวดฟันไปหาทันตแพทย์ซึ่งเป็นเพื่อนหรือคนรู้จักกัน เมื่อทันตแพทย์ทำฟันหรือรักษาฟันให้เราเสร็จแล้ว เขาไม่คิดค่ารักษาและค่าทำฟันจากเรา สิ่งที่ทันตแพทย์ผู้นั้นขาดไปคือจำนวนเงินก้อนหนึ่งที่เขาควรได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนต่อความเป็นธรรมหรือกระทบกระเทือนผู้อื่น แต่ถ้าต่อมาเรามาเป็นผู้พิจารณาคดี หรือพิจารณาเรื่องซึ่งพิพาทกันระหว่างนายแดงและนายดำ ซึ่งตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายนายแดงควรเป็นฝ่ายชนะ แต่ทันตแพทย์คนดังกล่าวมาหาเราและขอให้เราพิพากษาให้นายดำเป็นฝ่ายชนะคดี โดยอ้างว่านายดำเป็นญาติหรือเป็นเพื่อนของเขา ดังนี้จะทำให้เราลำบากใจ เพราะในการพิจารณาหรือชี้ขาดคดี หรือข้อพิพาท ถ้าให้ตามขอก็จะเสียความเป็นธรรม หากไม่ให้ก็ไม่สบายใจเพราะเป็นหนี้บุญคุณเขา ที่กล่าวมานี้เป็นแต่เพียงตัวอย่างเล็ก ๆ เรื่องหนึ่งเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาบางครั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ไปขอความช่วยเหลือและขอบริการจากบุคคลอื่นโดยมีมูลค่าคิดเป็นเงินมากมาย ซึ่งก่อให้เกิดบุญคุณ เมื่อเวลาเขาขอคดีก็มักจะให้เขา ซึ่งทำให้เสียความเป็นธรรม ทำให้ถูก วิพากวิจารณ์ และทำให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ต้องเสียชื่อเสียงไปมากมายแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เรารักษาความซื่อสัตย์สุจริตไว้ได้ก็คือ หลีกเลี่ยงการเป็นหนี้บุญคุณผู้อื่น รวมทั้งผู้ใหญ่และผู้บังคับบัญชาในวงการที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพทางกฎหมาย ต้องตระหนักและให้ความสำคัญในข้อนี้ให้มาก โดยอย่าประพฤติหรือปฏิบัติตนในทางที่จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาจะต้องไปก่อหนี้บุญคุณกับผู้อื่น
2. ด้านความเป็นอยู่ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายจะต้องฝึกฝนและปรับตัวเองในด้านความเป็นอยู่ ให้อยู่ภายในวงเงินงบประมาณของค่าตอบแทนที่ได้รับจากรัฐ ซึ่งได้แก่เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง หรือเงินค่าจ้างตอบแทนตามที่ตกลงไว้ โดยเฉพาะในปัจจุบัน หากเรารู้จักใช้จ่ายให้เป็น วางแผนงบประมาณของตนให้อยู่ในกรอบของค่าตอบแทนที่ได้รับ เราสามารถอยู่ได้อย่างสบาย ๆ ขอให้จำไว้ว่า แม้เราเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือเป็นทนายความที่มีชื่อเสียงมากไปรับประทานข้าวแกงด้วยเงินของตัวเอง ย่อมมีเกียรติและเป็นที่เคารพไว้วางใจจากประชาชน คู่ความ และผู้เกี่ยวข้อง ตรงกันข้ามหากไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคารด้วยเงินทองของผู้อื่นที่เรียกกันว่าเจ้าหรือมีสปอนเซอร์ กลับจะไม่มีเกียรติและเป็นที่แคลงใจ รวมทั้งอาจขาดความไว้วางใจจากประชาชน ขอให้จำไว้ว่าข้ออ้างของข้าราชการต่าง ๆ ที่มักจะอ้างว่าจำเป็นต้องไปรับเงินนอกระบบเพราะเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ได้รับจากรัฐไม่พอกินพอใช้นั้น เป็นข้ออ้างที่ไร้สาระของคนเห็นแก่ตัวไม่มีความอาย เพราะเขาเหล่านั้นล้วนเป็นคนใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เล่นการพนัน เที่ยวเตร่เกินตัว หรือเป็นคนมีความโลภ และหากใครก็ตามยกเหตุผลดังกล่าวขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการรับเงินทองนอกระบบแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะไปหาความยุติธรรมจากคนเหล่านั้นได้ เพราะเขาไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเหลือที่จะให้ความยุติธรรมได้
3. ความตั้งใจดี ความ ตั้งใจดี นี้เป็นรากฐานและจุดเริ่มต้นของผู้มีวิชาชีพในทางกฎหมาย ที่จะรักษาคุณธรรมและจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมายไว้ได้ ความตั้งใจดีนี้นอกจากจะทำให้ผู้ปฏิบัติรักษาคุณธรรมและจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมายไว้ได้แล้ว ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ปฏิบัติไปสู่ความสำเร็จและเจริญรุ่งเรืองในวิชาชีพกฎหมายของตนเองได้ดีตามสมควร
ความประพฤติที่มีความตั้งใจดีนี้ เป็นส่วนหนึ่งของคำนิยามความซื่อสัตย์สุจริตดังได้กล่าวมาข้างต้น “ ความตั้งใจดี ” คืออะไร หากจะเขียนตอบหรืออธิบายออกมาเป็นคำพูด อาจทำให้เข้าใจยาก แต่ถ้ายกเป็นตัวอย่างจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริงจะทำให้เราเข้าใจได้ง่าย
พวกท่านทั้งหลายที่มานั่งอยู่ในวันนี้ ก่อนสอบวิชาต่าง ๆ ที่สอบได้มา ผมเชื่อว่าหลายท่านอาจไปกราบไหว้บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ เพื่อขอให้สอบได้ เชื่อว่าหลายท่านอาจได้กราบไหว้บนบานกต่อกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมาย บางท่านอาจไปกราบไหว้บนบานต่อเจ้าพ่อ เจ้าแม่ที่ตนเคารพนับถือ บางท่านอาจบนว่าถ้าสอบได้จะนำ ดอกไม้ หัวหมู เป็ด ไก่ อาหารคาวหวานต่าง ๆ ไปถวายเมื่อสอบได้แล้วก็ไปแก้บนตามที่ตนได้บนไว้ ขอถามท่านที่เคยบนดังกล่าวมาว่า เมื่อท่านสอบได้แล้ว ท่านนำสิ่งต่าง ๆ ตามที่ได้บนไว้โดยเฉพาะ ที่เป็นอาหารไปถวายโดยนำไปวางไว้นั้น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านนับถือและไปบนไว้นั้น ต้องการสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวจากท่านหรือไม่ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์รับประทานอาหารที่ท่านไปกราบได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวท่านเป็นเทพ หากท่านต้องการสิ่งของดังกล่าวท่านสามารถหาเองได้ ถ้าเช่นนั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องการอะไร หากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวสามารถพูดกับเราได้ เมื่อเวลาเราไปขอพรจากท่านเอให้สอบได้ ท่านจะกล่าวกับเราว่าอย่างไร ท่านจะกล่าวว่า ขอให้ตั้งใจดูหนังสือและเมื่อสอบได้แล้วขอให้เป็นคนดี นำวิชาความรู้ไปใช้ในทางที่ถูก ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนและขอให้เป็นคนที่มีความซื่อสัตย์สุจริต นี่คือสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ต้องการจากเรา แล้วทำไมเราถึงไม่ไปบนในสิ่งที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องการจากเรา แต่กลับไปบนว่าจะให้วัตถุต่าง ๆ กับท่านเป็นการตอบแทนในลักษณะเหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งท่านไม่ต้องการ นี่แหละคือ “ ความตั้งใจดี ” ความตั้งใจดีนอกจากจะทำให้ท่านมีสมองปลอดโปร่ง จิตใจแจ่มใส ทำให้ท่านสอบได้แล้ว หากเรายึดมั่นในเรื่องความตั้งใจดีและปฏิบัติตามโดยเคร่งครัดแล้ว จะทำให้ท่านมีความสุข มีความสบายใจ สามารถพิจารณาและวินิจฉัยเรื่องราวต่าง ๆ ไปได้ด้วยความถูกต้อง ทั้งยังเป็นสิ่งที่ส่งเสริมในเรื่องหน้าที่การงานของท่าน และปกป้องท่านในบางครั้งที่พลาดพลั้ง จึงกล่าวได้ว่า “ ความตั้งใจดี ” เป็นรากฐานที่จะทำให้ท่านรักษาความซื่อสัตย์สุจริตไว้ได้
ท้ายที่สุดนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายที่มารับการอบรมในวันนี้ ประสบความสำเร็จในชีวิตของ การเป็นนักกฎหมาย สามารถนำความรู้และความดีของตนไปอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน คู่ความ และผู้เกี่ยวข้องต่อไป

วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

มงคล ๓๘ ประการ

          มงคลสูตร (ฟัง) เป็นพระสูตรหรือหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่เหล่าเทวดา[1] ที่มาทูลถามพระพุทธเจ้าเพื่อตอบข้อสงสัยของมนุษย์และเทวดา[2] โดยพระสูตรบทนี้ถือว่าเป็นพระสูตรสำคัญบทหนึ่งในพระพุทธศาสนาเถรวาท เพราะมีเนื้อหาแสดงถึงการปฏิเสธ มงคลภายนอก ที่นับถือเหตุการณ์หรือสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นมงคล หรือมีมงคล โดยอธิบายว่าในทัศนะพระพุทธศาสนานั้น มงคลของมนุษย์และเทวดาย่อมเกิดจากการกระทำอันได้แก่ มงคลภายใน คือต้องกระทำความดี และความดีนั้นจะเป็นสิ่งที่เรียกว่ามงคลเองโดยไม่ต้องไปอ้อนวอนกราบไหว้ขอมงคลจากนอกตัว เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาในพระสูตรแล้วแสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาปฏิเสธมงคลภายนอกโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นจุดเด่นในพระพุทธศาสนา
ประวัติ
         ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา อธิบายความโดยพิศดารถึงสาเหตุของการที่พระพุทธเจ้าตรัสมงคลสูตรไว้ว่า ประมาณ 12 ปีก่อนพุทธกาล ประชาชนต่างตื่นตัวว่า อะไรคือเหตุที่ทำให้ชีวิตเป็นมงคล กล่าวว่า บ้างก็ว่า การมีสิ่งของ เช่นต้นไม้ สัตว์ หรือว่ารูปเคารพต่าง ๆ จะทำให้ชีวิตเป็นมงคล[3] เรื่องราวการอภิปรายเรื่องมงคล ก็ไปถึงภุมเทวา คือเทวาดาในระดับพื้นดิน เทวดาก็สนทนากันว่าอะไรคือมงคล ประเด็นนี้ก็ลุกลามไปถึงอากาศเทวา ไปถึงสวรรค์ชั้นต่าง ๆ จนถึงพรหมโลกชั้นสูธาวาส ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย ของมนุษย์ที่บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีแล้ว มีความเข้าใจในเรื่องมงคลชีวิตเป็นอย่างดี แต่ไม่สามารถอธิบายได้ จึงได้ประกาศให้เทวดาทราบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเสด็จลงมาตรัสรู้ธรรมในอีก 12 ปี ให้ไปถามพระพุทธองค์ในตอนนั้น
         เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว คืนหนึ่งขณะที่ประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ใกล้เมืองสาวัตถี ท้าวสักกเทวราชได้นำหมู่เทวดาเข้าเฝ้า และบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งทูลถามพระองค์ว่า อะไรคือมงคลของชีวิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงหลักมงคลสูตร ซึ่งมีทั้งหมด 38 ประการดังกล่าว แก้แล้ว

เนื้อหาในพระสูตร
             ตามเนื้อหาในพระสูตร มงคลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ยึดถือวัตถุ แต่ยึดถือการปฏิบัติฝึกฝนตนเอง ซึ่งมีอยู่ 38 ประการ ดังนี้
  1. ไม่คบคนพาล
  2. คบบัณฑิต
  3. บูชาคนที่ควรบูชา
  4. อยู่ในปฏิรูปเทศ อยู่ในถิ่นมีสิ่งแวดล้อมดี
  5. ได้ทำความดีให้พร้อมไว้แต่ก่อน
  6. ตั้งตนไว้ชอบ
  7. เล่าเรียนศึกษามาก
  8. มีศิลปวิทยา
  9. มีระเบียบวินัย
  10. วาจาสุภาษิต
  11. บำรุงมารดาบิดา
  12. สงเคราะห์บุตร
  13. สงเคราะห์ภรรยา
  14. การงานไม่อากูล
  15. รู้จักให้
  16. ประพฤติธรรม
  17. สงเคราะห์ญาติ
  18. การงานไม่มีโทษ
  19. เว้นจากความชั่ว
  20. เว้นจากาการดื่มน้ำเมา
  21. ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
  22. ความเคารพ
  23. ความสุภาพอ่อนน้อม
  24. ความสันโดษ
  25. มีความกตัญญู
  26. ฟังธรรมตามกาล
  27. ความอดทน
  28. เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย
  29. พบเห็นสมณะ
  30. สนทนาธรรมตามกาล
  31. มีความเพียรเผากิเลส
  32. ประพฤติพรหมจรรย์
  33. เห็นอริยสัจจ์
  34. ทำพระนิพพานให้แจ้ง
  35. ถูกโลกธรรม จิตไม่หวั่นไหว
  36. จิตไร้เศร้า
  37. จิตปราศจากธุลี
  38. จิตเกษม